มะขามพันธุ์หมื่นจง เป็นต้นตระกูลของพันธุ์มะขามหวานกำเนิดมาได้นานกว่า 200 ปี โดยขุนหมื่นจงเป็นผู้ค้นพบ จัดเป็นมะขามหวานพันธุ์หนัก มีถิ่นกำเนิดที่อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ ลักษณะใบใหญ่สีเขียวสด เปลือกลำต้นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ฝักโค้งใหญ่แทบจรดกันเป็นรูปวงฆ้อง รสชาติหวานสนิท เนื้อหนาเมล็ดเล็กและเนื้อล่อน เมื่อสุกงอมจะมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วนข้อเสียฝักมักแตกเนื่องจากโครงสร้างของเปลือกไม่ดี จนเป็นลักษณะประจำสายพันธุ์ และด้วยสาเหตุดังกล่าวทำให้ไม่ได้รับความนิยมจากเกษตรกร ในการแพร่ขยายพันธุ์จนส่งผลให้ปัจจุบันมะขามหวานในสายพันธุ์นี้เกือบจะสูญพันธุ์แล้ว
การปลูกมะขามหวาน มะขาม มีแหล่งกำเนิดในอัฟริกาเขตร้อน เป็นไม้ป่าแถบสะวันนาได้นำเข้าไปปลูกใน อินเดีย และต่อมาได้แพร่กระจายทั่วไปในเอเชียและเขตร้อนอื่น ๆ ประเทศไทย จัดว่าเป็นแหล่งปลูกมะขามเปรี้ยวและมะขามหวานที่ใหญ่ที่สุด พบว่ามีการ ปลูกมะขามหวานกันมานานแล้วในภาคเหนือของไทย โดยเฉพาะที่อำเภอหล่ม เก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ซึ่งเป็นต้นกำเนิดมะขามหวานพันธ์หมื่นจง สีทอง และ อินทผลัม ที่มีชื่อที่สุด นอกจากนั้นยังพบในบางจังหวัดทางภาค อีสาน ปัจจุบันได้มีการคัดเลือกขยายพันธุ์และปลูกเป็นอาชีพเกือบทุกภาคของ ประเทศไทย คาดว่าในอนาคตอาจจะเป็นไม้ผลเศรษฐกิจทำรายได้ให้แก่ประเทศ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์:
- ใบ (Leaves) – มะขามหวานเป็นพืชใบเลี้ยงคู่ ชนิดใบประกอบ (compound leaves) ใบเรียงตัวแบบสลับ (alternate) มีความยาวประมาณ 10 – 16 ซม. ประกอบด้วยใบย่อยเล็ก ๆ รูปคล้ายสี่เหลี่ยมผืนผ้า (oblong) ขนาด 1 – 2.5 x 0.5 – 1.0 ซม. เรียงตัวติดก้านใบใหญ่แบบตรงข้าม (opposite) มีจำนวนใบย่อยประมาณ 10 – 17 คู่
- ดอก(Flowers) – มะขามหวานมีดอกเป็นช่อแบบ Racemes ยาวประมาณ 5 – 16 ซม. บานจากโคนช่อไปยอดในช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกประมาณ 5 – 12 ดอก ขนาดเสนผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 – 2.5 ซม. มีกลีบไม่เท่ากัน (Zygomorphic) ประกอบด้วยใบประดับ (Bracteoles) จำนวน 2 อัน รูปเรือมีสีครีม, ชมพู-ครีม หรือสีแดง ซึ่งแล้วแต่พันธุ์ ใบประกอบนี้จะหุ้มตาดอกไว้ แต่จะร่วงก่อนดอกบาน ดอกมะขามหวานจะมีกลีบเลี้ยง (Sepals) 4 อัน สีครีมยาวประมาณ 1 – 1.5 ซม. กลีบดอก (Petale) 3 อัน สีเหลืองหรือสีชมพูและมีเส้นลายแดงคล้ายเส้นโลหิตฝอยยาวประมาณ 1 – 1.5 ซม.
- ดอกมะขามหวานเป็นดอกประเภทสมบูรณ์เพศมีเกสรตัวผู้ที่สมบูรณ์ (Fertile stamens) 3 อัน สลับด้วยเกสรตัวผู้ที่ฝ่อหรือไม่สมบูรณ์ (Staminodes) ก้านเกสร (Filaments) ยาวประมาณ 1 ซม. และโค้งเล็กน้อย มีฐานติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวมีกระเปราะเกสรตัวผู้ (Anthers) 2 อัน ติดอยู่ที่ปลายตามขวาง เกสรตัวเมีย (Pistil) 1 อัน ก้านเกสร (Style) ยาวกว่าของตัวผู้เล็กน้อยและมีขนอ่อนปกคลุม การติดของรังไข่ (overy) เป็นแบบ Superior มี 1 ช่อง (locule) แต่มีไข่อ่อน (ovules) จำนวนมาก มะขามหวานส่วนใหญ่มีการผสมพันธุ์ข้ามดอก เนื่องจากเกสรตัวผู้จะบานก่อนเกสรตัวเมีย และมักจะมีอายุในการผสมราว 1 – 2 วัน และถ้าไม่ได้รับการผสมหรือผสมไม่ติด ประมาณ 2 – 3 วัน ต่อมาดอกจะร่วงโดยกลีบดอกจะร่วงก่อน ส่วนดอกที่ได้รับการผสมติดแล้ว รังไข่ก็จะขยายตัวเจริญเป็นฝักมะขามต่อไป
- เนื้อมะขาม (Pulp) เนื้อมะขามหวานเป็นส่วนที่ใช้รับประทาน ซึ่งมะขามหวานที่ดีนั้นควรจะมuรสหวาน กลิ่นหอม เนื้อนุ่มหรือกรอบ มีพังพืดหรือเยื้อหุ้มเมล็ดไม่เหนียว และเมล็ดเล็กหลุดออกจากเนื้อง่าย อย่างไรก็ตามมะขามแต่ละพันธ์จะให้เนื้อดีแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ส่วนเรื่องสีของเนื้อมะขามหวานนั้น มีตั้งแต่สีน้ำตาลเข็มเกือบดำ สีน้ำตาลแดง สีน้ำตาล สีน้ำตาลเหลือง ตลอดจนสีน้ำตาลอ่อนซีด หรือด้าน ๆ มะขามเมื่อแก่แล้วเก็บไว้นาน ๆ สีของเนื้อจะเข็มหรือคล้ำขึ้น และกลิ่นหอมจะหายไปบ้าง มะขามหวานขณะยังอ่อนจะมีรสเปรี้ยวและฝาด เนื่องจากเนื้อมะขามมีกรดทาแทริค (Tartaric acid) เมื่อแก่แล้วความฝาดจะหายไป ปริมาณกรดก็จะลดลงและน้ำตาลจะเพิ่มขึ้น ถ้าประมาณของน้ำตาลสูงมีกรดน้อย มะขามก็จะหวานจัด ซึ่งมะขามแต่ละพันธุ์มีความหวานแตกต่างกัน
ประโยชน์มะขามหวาน
- มะขามหวานนำมารับประทานเป็นผลไม้ มีเนื้อหนา เนื้อมีรสหวาน
- ผลดิบมะขามหวานมีรสเปรี้ยวคล้ายกับมะขามเปรี้ยว แต่เปรี้ยวน้อยกว่า นิยมใช้ใส่ในอาหารประเภทต้มยำเพื่อให้รสเปรี้ยวคล้ายกับมะขามเปรี้ยว และยังช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อได้ดี
- ผลดิบมะขามหวานนำมารับประทานสด ให้รสเปรี้ยวเช่นกับมะขามเปรี้ยว
- มะขามหวานสุกนำมาแปรูปเป็นไวน์มะขาม มะขามกวน และซอสมะขาม เป็นต้น
- ใบอ่อนหรือยอดอ่อนเด็ดมาเป็นมัดรวมกัน ใช้สำหรับขัดถูเครื่องเรือนโลหะ ช่วยในการขจัดคราบโลหะทำให้โลหะใสขึ้น โดยเฉพาะโลหะทองเหลือง และทองแดง
- ใบ และผลนำมาขยำ ใช้ล้างทำความสะอาดจาน ชามได้ดี
- ใบแก่นำมาต้มย้อมผ้า ซึ่งให้สีเขียวขี้ม้า
- เปลือกมะขามหวานที่แกะออกแล้ว นำมาทุบให้แตกเป็นก้อนเล็กสำหรับผสมกับยาสูบ
- เมล็ดดิบมะขามหวานมีรสฝาด นำมาคั่วไฟให้สุก เนื้อเมล็ดมีกลิ่นหอมใช้รับประทานเป็นของหวานของเคี้ยวเล่น แต่เมล็ดค่อนข้างแข็ง ต้องเคี้ยวหลังจากคั่วใหม่ๆจะเคี้ยวง่าย ทั้งนี้ ควรระวังการรับประทานเมล็ดดิบ หากรับประทานมากจะทำให้ท้องอืด แน่นท้อง อาหารไม่ย่อย เพราะเมล็ดดิบมีรสฝาด มีความเป็นด่างมาก ทำให้ต้านการย่อยอาหารของน้ำย่อย
- เนื้อเมล็ดสีขาวนวลนำมาบดเป็นแป้งสำหรับต้มใช้ทำกาว ซึ่งจะให้เนื้อกาวที่เหนียวมาก